โตโยต้า ส่งมอบโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” แก่กลุ่มแม่บ้านโคกสว่าง ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์

พงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นายภีมะ ฮัดเจสสัน ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมสังคม บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ ผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า บริษัท โตโยต้าขอนแก่น ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด ร่วมส่งมอบโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” แก่ นางสายทิพย์ ลามา ประธานกลุ่มแม่บ้านโคกสว่าง ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ ณ กลุ่มแม่บ้านโคกสว่าง ต. คอนฉิม อ. แวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น

โครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” คือนวัตกรรมสังคมรูปแบบใหม่ของโตโยต้า ที่มุ่งเน้นในการ สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจผ่านการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรฐกิจฐานราก ซึ่งเริ่มต้นดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โดยการนำปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ อันได้แก่ วิถีโตโยต้า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และปรัชญาลูกค้าเป็นที่หนึ่ง มาถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมืออาชีพ เพิ่มกำไร อยู่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับทิศทางการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้นโยบายประชารัฐ ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน

กลุ่มแม่บ้านโคกสว่าง ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ เป็นธุรกิจชุมชนแห่งที่ 4 ต่อจากธุรกิจชุมชนในจังหวัดกาญจนบุรี กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ ที่เข้าร่วมโครงการ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ซึ่งบุคลากรจากโตโยต้า และ บริษัท โตโยต้าขอนแก่น ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด ได้เข้าไปร่วมสำรวจปัญหาของธุรกิจชุมชน ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2558 โดยให้คำแนะนำในการปรับปรุงการดำเนินการของธุรกิจ ผ่านกระบวนการ 4 ขั้นตอน ได้แก่ “รู้ เห็น เป็น ใจ” คือ รู้ รู้ปัญหาในทุกกระบวนการ เห็น เห็นแนวทางแก้ไขปัญหา เป็น ทำเป็นได้ด้วยตัวเอง และสุดท้าย ใจ คือ เข้าใจใส่ใจในการดำเนินงาน

ซึ่งจากการสำรวจพบว่าปัญหาหลักของธุรกิจชุมชนนี้คือ การผลิตที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ การควบคุมคุณภาพผลผลิต การจัดการสินค้าคงคลัง และการส่งมอบสินค้าอย่างไม่เป็นระบบ โดยบุคลากรจาก โตโยต้า ผู้แทนจำหน่าย และเจ้าของธุรกิจชุมชน ได้ร่วมมือกันในการปรับปรุงธุรกิจ ดังนี้

1. เพิ่มผลิตภาพ

โตโยต้ามองเห็นปัญหาคอขวดในกระบวนการปั้นข้าว ที่ก่อให้เกิดความล่าช้าในการผลิต และทำให้ผลิตได้ ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงได้ทำการปรับแม่พิมพ์การผลิตใหม่ ให้มีมาตรฐาน และสามารถเพิ่มผลิตภาพได้ถึง 2 เท่า จาก 600,000 ชิ้นต่อเดือน เป็น 1,200,000 ชิ้นต่อเดือน

2. ควบคุมคุณภาพ ลดต้นทุนของเสีย

ปรับการทำงานในกระบวนการ ปั้น – ตาก – โรยน้ำตาล เพื่อลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิต จากเดิมพบแผ่นข้าวแตกหรือหักในกระบวนการผลิตที่ 11% (15 กิโลกรัมต่อวัน) ซึ่งหลังจากการปรับปรุงสามารถลดของเสียจากการผลิตเหลือเพียง 0.01% ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 3,000 บาทต่อวัน

3. สอนการวางแผนธุรกิจ แผนขาย แผนผลิต ภายใต้ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just in Time)

โตโยต้าจัดระบบการทำงานให้เป็นระเบียบมากขึ้นผ่านการทำแบบฟอร์ม บอร์ดแห่งการมองเห็น และสนับสนุนให้มีการจัดประชุมระหว่างฝ่ายต่างๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถมองเห็นถึงจำนวนงานเข้า-ออก และปัญหาต่างๆร่วมกัน เพื่อให้สามารถวางแผนการผลิตและส่งมอบสินค้าได้ดีขึ้น ป้องกันการผิดพลาด รวมถึงจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างเป็นระบบมากขึ้นแม้ตลาดจะมีการขยายตัว

พิธีส่งมอบโครงการ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ในวันนี้ เกิดขึ้นเพื่อส่งมอบโครงการให้เจ้าของธุรกิจดำเนินงานปรับปรุงธุรกิจด้วยตัวเองต่อไป โดยหวังว่ากลุ่มแม่บ้านโคกสว่าง ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ จะสามารถดำเนินธุรกิจอย่างมืออาชีพได้ด้วยตัวเอง สามารถรักษามาตรฐานการดำเนินงาน และวัฒนธรรมไคเซ็น (การปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง) โดยจะมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง ในขณะที่ โตโยต้าจะเดินหน้าต่อยอดโครงการ “ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ต่อไป ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยการร่วมมือกับภาครัฐ ชุมชน และผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทั่วประเทศ เพื่อเป็นผู้แนะนำแนวทางในการเพิ่มศักยภาพแก่ธุรกิจชุมชนไทย ที่เปรียบเสมือนรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถรองรับการแข่งขันในอนาคต ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน